ชีวิตสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ ของ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์

ไดอานาพบกับเจ้าชายชาลส์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2520 ขณะที่ยังทรงคบหากับเลดี้ซาราห์ พี่สาวคนโตของไดอานา[33][34]  ฤดูร้อน พ.ศ. 2523 ทั้งสองได้รับเชิญให้ไปร่วมพักผ่อนในชนบท ไดอานาชมเจ้าชายแข่งโปโล และเจ้าชายทรงเกิดความเสน่หาแก่ไดอานาและทรงปรารถนาที่จะได้เธอมาเป็นเจ้าสาว ความสัมพันธ์ก้าวหน้าไปอีกขั้นเมื่อพระองค์ส่งคำเชิญให้ไดอานาร่วมลงเรือพระที่นั่งบริตาเนียเพื่อเดินทางไปพักผ่อนวันหยุดที่เมืองคาวส์ ซึ่งเป็นเมืองท่าชายทะเลบนเกาะไอล์ออฟไวต์ บริเวณตอนใต้ของอังกฤษ  และตามด้วยจดหมายเชิญให้ไปพักผ่อนวันหยุดสุดสัปดาห์และเข้าเฝ้าฯ พระราชวงศ์ที่ปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2523[35][36] ณ ปราสาทบัลมอรัล ไดอานาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเองจากสมเด็จพระราชินีนาถ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ต่อมาเจ้าชายจึงตัดสินพระทัยคบหากันกับเลดี้ไดอานาอย่างคู่รักเป็นเวลาสั้น ๆ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เจ้าชายทรงขอหมั้นเลดี้ไดอานาและเธอตอบตกลง แต่ข่าวการหมั้นหมายถูกปิดเก็บความลับจากสื่อมวลชนนานกว่าสามสัปดาห์[32]

พิธีหมั้นและพระราชพิธีอภิเษกสมรส

ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีอภิเษกสมรส คู่บ่าวสาวเสด็จฯ ออกจากเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ โดยรถม้าพระที่นั่ง

สำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศพิธีหมั้นหมายระหว่างเจ้าชายชาลส์และเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524[19] ไดอานาเลือกแหวนหมั้น ซึ่งประกอบจากเพชร 14 เม็ดล้อมแซฟไฟร์ซีลอนสีน้ำเงินน้ำหนัก 12 กะรัต ขึ้นวงเรือนจากแพลทินัมน้ำหนัก 18 กะรัต[19] แหวนหมั้นวงนี้มีความคล้ายคลึงกับแหวนหมั้นของฟรานเซส มารดาของไดอานา  ผลิตและประกอบโดยร้านเพชรเจอร์ราร์ด ซึ่งเป็นผู้ผลิตอัญมณีสำหรับราชสำนัก (ณ ขณะนั้น) แต่สมาชิกราชวงศ์ไม่นิยมโปรดสั่งทำแหวนจากร้านเพชรแห่งนี้ และพบว่าแหวนวงนี้ปรากฏอยู่ในคอลเลคชันเครื่องเพชรที่มีอยู่เดิม และไม่ได้มีการออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะแก่ไดอานา  [37] นอกจากนี้ สมเด็จพระราชชนนีได้ประทานเข็มกลัดเพชรประดับไพลินเพื่อเป็นของขวัญหมั้นเพิ่มเติมแก่ไดอานาอีกด้วย[38]

ใน พ.ศ. 2554 แหวนหมั้นแซฟไฟร์สีน้ำเงินนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อเป็นแหวนหมั้นสำหรับนางสาวแคเธอริน มิดเดิลตัน[39] และแหวนวงนี้จึงถูกทำเลียนแบบไปทั่วโลก

หลังการประกาศหมั้น ไดอานาลาออกจากตำแหน่งครูโรงเรียนอนุบาลและย้ายไปพักอยู่ในพระตำหนักคลาเรนซ์เฮาส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชชนนี ณ ขณะนั้น[40] ต่อมาไดอานาจึงเข้าพักในพระราชวังเคนซิงตันจนกระทั่งวันอภิเษกสมรส[40]  ไดอานาเป็นหญิงสาวชาวอังกฤษคนแรกในรอบ 300 ปีที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารอังกฤษ และยังถือว่าเป็นพระสุณิสา(สะใภ้) พระองค์แรกของราชวงศ์วินด์เซอร์ที่มีอาชีพและรายได้เป็นของตัวเอง[22][19]  

การปรากฏกายครั้งแรกต่อสาธารณชนของไดอานาพร้อมกับเจ้าชายชาลส์ คือ งานบอลล์เพื่อการกุศลในเดือนมีนาคม 2524 ที่โกลด์สมิธส์ฮอลล์ และที่แห่งนั้นเธอได้มีโอกาสเข้าเฝ้า เจ้าหญิงเกรซ เจ้าหญิงพระชายาแห่งโมนาโก[40][41]

เลดี้ไดอานาในวัยเพียง 20 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ณ มหาวิหารเซนต์พอล สาเหตุที่เลือกจัดพิธีในมหาวิหารแห่งนี้ เพราะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมพิธีได้มากกว่าเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ซึ่งนิยมใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีอภิเษกสมรสในราชสำนักมาเป็นเวลายาวนาน[22][19] พระราชพิธีอภิเษกสมรสนี้ยิ่งใหญ่หรูหราจนมีการเปรียบเปรยกันว่างดงามปานงานแต่งงานในเทพนิยาย มีผู้ติดตามรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก และตลอดเส้นทางขบวนเสด็จมีประชาชน 600,000 คนต่างเฝ้ารอชมพระโฉมของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว[19][42]

ที่หน้าแท่นบูชาภายในมหาวิหาร ไดอานาทรงขานสองพระนามแรกของพระสวามีไม่ถูกต้องตามลำดับ พระองค์ตรัสว่า Philip Charles Arthur George แทนที่ควรจะเป็น Charles Philip[42] ไดอานาไม่ได้ตรัสว่า "จะเชื่อฟังพระสวามี" ระหว่างทำพิธีกล่าวคำปฏิญาณของคู่บ่าวสาว เนื่องจากทั้งสองขอให้ตัดประโยคดังกล่าวออกไป[43] ไดอานาฉลองพระองค์ในชุดแต่งงานสีขาวมูลค่า 9,000 ปอนด์ (373,000​บาท–อิงอัตราแลกเปลี่ยน พ.ศ. 2524) พร้อมชายกระโปรงยาว 25 ฟุต (7.62 เมตร)[44] บทเพลงที่ใช้บรรเลงระหว่างประกอบพิธีในมหาวิหารได้แก่ พรินซ์ออฟเดนมาร์กส์มาร์ช, ไอวาวทูดี มายคันทรี, พอมพ์แอนด์เซอร์คัมสแตนซ์หมายเลข 4, และก็อดเซฟเดอะควีน[45]

หลังได้รับพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ไดอานาอยู่ในลำดับที่ 3 แห่งลำดับโปเจียมฝ่ายใน (ต่อจาก สมเด็จพระราชินีนาถ และสมเด็จพระราชชนนี) และอยู่ในลำดับที่ 5 หรือ 6 ในลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรเครือจักรภพ (ต่อจาก สมเด็จพระราชินีนาถ วิซรอย ดยุกแห่งเอดินบะระ สมเด็จพระราชชนนี และเจ้าชายแห่งเวลส์) ไม่นานภายหลังพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งราชวงศ์จำนวนหนึ่งแก่ไดอานา และทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ไดอานาใช้มงกุฎเคมบริดจ์เลิฟเวอร์สน็อต[46][47] และยังทรงพระราชทานตราอาร์มให้แก่เจ้าหญิงอีกด้วย[48]

พระโอรส

เมื่ออภิเษกสมรสแล้ว ที่ประทับในกรุงลอนดอนอย่างเป็นทางการของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือ พระราชวังเคนซิงตัน นอกจากนี้ยังมีที่ประทับอีกแห่งในมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ คือ พระตำหนักไฮโกรฟ เมืองเทตบรี

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 สำนักพระราชวังแถลงข่าวเรื่องเจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงตั้งพระครรภ์[49]

เดือนมกราคม พ.ศ. 2525 ขณะที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เจ้าหญิงประสบอุบัติเหตุลื่นล้มบันไดในตำหนักซานดริงแฮม เซอร์จอร์จ พิงเกอร์ สตูนรีแพทย์ประจำราชสำนัก ถูกเรียกตัวมาจากลอนดอนเพื่อถวายการรักษาเจ้าหญิง ไดอานาได้รับบาดแผลฟกซ้ำรุนแรง แต่พระกุมารในครรภ์ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด[50]

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2525 เจ้าหญิงไดอานามีพระประสูติกาลพระโอรสองค์แรก เจ้าชายวิลเลียม อาร์เธอร์ ฟิลิป หลุยส์[51] ณ อาคารลินโดวิง โรงพยาบาลเซนต์แมรี เขตแพดดิงตัน กรุงลอนดอน ภายใต้การควบคุมดูแลของเซอร์พิงเกอร์[50]

ท่ามกลางเสียงวิพากย์วิจารณ์จากสื่อ เจ้าหญิงไดอานาตัดสินพระทัยเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์พร้อมด้วยพระโอรสน้อย แต่กลับได้รับความนิยมจากประชาชน เจ้าหญิงทรงเคยตรัสถึงเหตุนี้ว่าในตอนแรกไม่ต้องการให้พระโอรสร่วมเสด็จด้วย แต่ต่อมา มัลคอล์ม เฟรเซอร์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (ในขณะนั้น) เสนอว่าควรให้เจ้าหญิงเสด็จเยือนออสเตรเลียพร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียม[52]

มีพระประสูติกาลพระโอรสองค์ที่สอง เจ้าชายแฮร์รี ชาลส์ อัลเบิร์ต เดวิด เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2527[53] พระองค์ตรัสว่าทรงมีความใกล้ชิดกับพระสวามีมากที่สุดระหว่างทรงพระครรภ์เจ้าชายแฮร์รี เจ้าหญิงไม่ได้ทรงเปิดเผยเพศของพระกุมารให้แก่ผู้ใดทราบล่วงหน้า รวมทั้งพระสวามี

ในเวลานั้น มีข่าวลือว่า เจ้าชายชาลส์มิใช่พระบิดาที่แท้จริงของเจ้าชายแฮร์รี แต่เป็น เจมส์ ฮิววิตต์ ครูสอนขี่ม้าที่เจ้าหญิงเคยมีความสัมพันธ์อย่างลับ ๆ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพภายนอกที่คล้ายกันมากระหว่างพระองค์กับฮิววิตต์ แต่มีหลักฐานหลายชิ้นออกมาหักล้างข่าวลือนี้ ที่ยืนยันว่าเจ้าหญิงมีพระประสูติกาลเจ้าชายแฮร์รีก่อนที่จะทรงมีสัมพันธ์กับฮิววิตต์[54][55][56]

เจ้าหญิงไดอานามักพาพระโอรสออกนอกเขตพระราชฐานเพื่อท่องเที่ยวและเยี่ยมชมตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองอย่างเช่นสามัญชน[19][57][58] เจ้าหญิงทรงไม่ยอมอ่อนข้อต่อพระสวามีและราชสำนักในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระโอรส เจ้าหญิงทรงตั้งชื่อแรกของพระโอรสทั้งสองด้วยพระองค์เอง ทรงฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักหลายอย่าง เช่น ไม่โปรดให้มีพระพี่เลี้ยงสำหรับพระโอรสทั้งสอง ทรงเลือกโรงเรียน เครื่องแต่งกาย วางแผนกิจกรรมต่าง ๆ หากตารางเวลางานของพระองค์เอื้ออำนวย เจ้าหญิงจะทรงขับรถยนต์ไปส่งพระโอรสที่โรงเรียนด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังทรงกำหนดเวลาประกอบพระกรณียกิจของพระองค์ให้อยู่ภายในช่วงเดียวกันกับเวลาเรียนของพระโอรส[59]

ชีวิตสมรสที่ล้มเหลวและการแยกกันอยู่กับเจ้าชายแห่งเวลส์

ภายในระยะเวลา 5 ปี ชีวิตคู่ของเจ้าหญิงเริ่มระหองระแหงและส่อแววร้าวฉาน ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างกันมากถึง 13 ปี[60] และความคลางแคลงใจของไดอานาในความสัมพันธ์ของพระสวามีกับคนรักเก่า นางคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์[61] ต้นปี พ.ศ. 2533 สาธารณชนต่างรับรู้ว่า ชีวิตคู่ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ได้ล่มสลายลงแล้ว แม้ว่าในตอนแรกทั้งสองพระองค์ได้พยายามปิดบังปัญหานี้มาตลอด แต่กลับล้มเหลวเมื่อสื่อมวลชนเปิดโปงเรื่องส่วนพระองค์อย่างหมดเปลือกสองจนกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก ทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงทรงต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นตัวทำลายชีวิตคู่ผ่านการให้ข่าวแก่นักข่าวหนังสือพิมพ์และพระสหาย[61]

จุดแตกหักในชีวิตคู่ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ เริ่มมีเค้าลางชัดเจนในช่วงต้นปี พ.ศ. 2528[62] เมื่อเจ้าชายชาลส์กลับไปสานความสัมพันธ์กับนางคามิลลา พาร์กเกอร์​ โบลส์ อดีตคนรักเก่าที่แต่งงานแล้ว ต่อจากนั้นไม่นานไดอานาก็ลอบมีสัมพันธ์ลับกับพันตรี เจมส์ ฮิววิตต์ ความสัมพันธ์ชู้สาวของเจ้าชายและเจ้าหญิงถูกเปิดเผยในเดือนพฤษภาคม 2535 ในหนังสือ Diana: Her True Story (ชีวิตจริงของไดอานา) เรียบเรียงโดย แอนดรูว์ มอร์ตัน[63][64] ซึ่งเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อนแล้วในคอลัมน์ของนิตยสารรายสัปดาห์ The Sunday Times เนื้อหาในหนังสืออ้างว่าเจ้าหญิงทรงพยายามปลงพระชนม์ชีพพระองค์เองจากปัญหาต่าง ๆ มากมายที่รุมเร้า

ระหว่าง พ.ศ. 2535–2536 เทปบันทึกเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์กับบุคคลที่สามของทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงหลุดออกมาสู่สื่อมวลชน ทำให้สาธารณชนได้ล่วงรู้ถึงความเกลียดชังระหว่างสองพระองค์ เทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างไดอานากับเจมส์ กิลบี ถูกเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์เดอะซัน ผ่านบริการโทรศัพท์สายด่วนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 บทสนทนาส่วนตัวนี้ได้รับการถอดความและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะซันภายในเดือนเดียวกัน กรณีดังกล่าวเป็นที่รู้จักในนาม "สควิดจีเกต" โดยคำว่า "สควิดจี" ที่กิลบีใช้เรียกไดอานาอย่างสนิทเสน่หา[65][19]

พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ข้อความส่วนหนึ่งจากเทปบันเสียง “คามิลลาเกต” ซึ่งบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าชายชาลส์และนางคามิลลา ปรากฏในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์หลายสำนักในอังกฤษ[66][67]

ธันวาคม พ.ศ. 2535 ณ สภาสามัญชนแห่งสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรี จอห์น เมเจอร์ ออกแถลงการณ์ เรื่องการแยกกันอยู่ระหว่างเจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์[68]

มกราคม พ.ศ. 2536 ข้อความจากเทปบันทึกเสียงฉบับเต็ม คามิลลาเกต ถูกนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายสำนักอีกครั้ง[19]

พ.ศ. 2536 กลุ่มหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์ลงภาพแอบถ่ายของเจ้าหญิงไดอานาระหว่างทรงออกกำลังกายอยู่ภายในโรงยิมแอลเอฟิตเนส ในภาพ เจ้าหญิงทรงอยู่ในชุดออกกำลังกายแนบเนื้อและกางเกงขาสั้น[69][70] ภาพดังกล่าวลักลอบถ่ายโดย ไบรซ์ เทย์เลอร์ เจ้าของโรงยิม ทนายความของไดอานาดำเนินการทางกฎหมายทันทีที่ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ โดยมีคำร้องให้ศาลห้ามให้มีการวางจำหน่ายและเผยแพร่ภาพดังกล่าวอย่างถาวร[69][70] แต่อย่างไรก็ตามภาพถ่ายชุดนี้ถูกลักลอบนำไปตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์นอกสหราชอาณาจักร[69] ท้ายที่สุด ศาลมีคำสั่งห้ามกลุ่มหนังสือพิมพ์มิเรอร์และนายเทย์เลอร์ให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ภาพถ่ายของไดอานาเพิ่มเติมอีกเป็นอันขาด[69]สุดท้ายกลุ่มหนังสือพิมพ์มิเรอร์ยอมประกาศขอโทษหลังถูกตั้งข้อครหาและวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายในสังคม มีการรายงานว่ากลุ่มหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์ได้ชดเชยค่าเสียหายจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้แก่เจ้าหญิงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย อีกทั้งยังบริจาคเงินจำนวน 2 แสนปอนด์ให้แก่องค์กรการกุศลของพระองค์[69] นายเทย์เลอร์ยอมจ่ายค่าเสียหายให้แก่ไดอานาเช่นเดียวกันด้วยเงิน 3 แสนปอนด์ แต่มีข่าวลือว่ามีสมาชิกราชวงศ์พระองค์หนึ่งได้ช่วยเหลือนายเลอร์ในเรื่องเงินค่าเสียหายดังกล่าว[69]

เจ้าหญิงมาร์กาเรต ซึ่งเป็นพระมาตุลานี (ป้าสะใภ้) ของไดอานาทรงเผาทำลายจดหมาย “ลับสุดยอด” ซึ่งไดอานาทรงเขียนถึงสมเด็จพระราชชนนีเมื่อ พ.ศ. 2536 เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงรับสั่งว่าเนื้อหาในจดหมายเหล่านั้นเต็มไปด้วยเรื่องส่วนตัวจำนวนมาก วิลเลียม ชอว์ครอส นักประวัติศาสตร์ พูดถึงเรื่องนี้ว่า ไม่แปลกใจเลยที่เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงกำลังช่วยปกป้องพระมารดาและสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ” ชอว์ครอสเห็นว่าการกระทำของเจ้าหญิงมาร์กาเรตนั้นสมเหตุสมผล แต่หากพิจารณาในมุมนักประวัติศาสตร์ เขากลับรู้สึกเสียดายที่ทรงทำลายจดหมายนั้น[71]

ระหว่างที่ไดอานากล่าวหาคามิลลาว่าเป็นตัวทำลายครอบครัวของพระองค์ เจ้าหญิงทรงเริ่มหวาดระแวงว่าเจ้าชายชาลส์กำลังลอบมีสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้หญิงคนใหม่ เดือนตุลาคม 2536 เจ้าหญิงเขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ใจความว่า ทรงเชื่อว่าพระสวามีกำลังหลงรัก ทิกกี เล็กจ์-เบิร์ก ผู้ช่วยส่วนพระองค์ (อดีตพระพี่เลี้ยง) และต้องการสมรสใหม่ผู้หญิงคนนี้[72] นางสาวเล็กจ์-เบิร์กเคยได้รับการว่าจ้างโดยเจ้าชายชาลส์ในตำแหน่งพระพี่เลี้ยงของพระโอรสทั้งสองเมื่ออยู่ในความดูแลของพระบิดา[73] ไดอานาทรงกริ้วมากเมื่อทรงทราบความมิตรภาพที่ดีระหว่างพระโอรสกับเล็กจ์-เบิร์ก[74]

3 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงประกาศถอนตัวจากชีวิตสาธารณชนอย่างเป็นทางการ และในเวลาเดียวกันนั้น ข่าวซุบซิบเรื่องสัมพันธ์รักระหว่างเจ้าหญิงไดอานากับเจมส์ ฮิววิตต์ อดีตครูสอนขี่ม้าของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี กำลังแพร่สะพัดอย่างหนาหู จนถึงกับมีการตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือชื่อว่า Princess in Love และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันใน พ.ศ. 2539[75]

29 มิถุนายน พ.ศ. 2537 เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงประทานสัมภาษณ์ผ่านทางรายการโทรทัศน์แก่ โจนาธาน ดิมเบิลบลี เพื่อชี้แจงถึงเรื่องชีวิตคู่ที่ล้มเหลวด้วยพระองค์เองต่อสาธารณชน ทรงยอมรับว่าพระองค์กลับไปมีความสัมพันธ์กับนางคามิลลา หลังจากที่ชีวิตคู่ของพระองค์กับเจ้าหญิงนั้นมาถึงทางตันในปี พ.ศ. 2529[76][77][78]

ทินา บราวน์ แซลลี บีเดล สมิธ และซาราห์ แบรดฟอร์ด และนักเขียนหลายคน เห็นพ้องต้องคำในถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหญิงในรายการโทรทัศน์ บีบีซีพาโนรามา ที่ออกอากาศช่วงปลายปี พ.ศ. 2538 ตอนหนึ่งของสัมภาษณ์เจ้าหญิงทรงเปิดเผยว่าทรงได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสจากโรคซึมเศร้าและโรคบูลีเมียขั้นรุนแรง และทรงพยายามทำร้ายพระองค์เองด้วยการกรีดข้อพระหัตถ์และพระเพลา[79] จากพระอาการต่าง ๆ ที่ทรงกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ทำให้นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นว่าไดอานามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง[80][81]

การหย่าร้าง

มาร์ติน บาชีร์ ได้รับพระอนุญาตจากเจ้าหญิงแห่งเวลส์เพื่อขอสัมภาษณ์พระองค์ในรายการ พาโนรามา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแส และเทปการสัมภาษณ์เจ้าหญิงออกอากาศเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538[79]

ทรงตรัสถึงเจมส์ ฮิววิตต์ว่า "ใช่ ฉันเคยหลงรักเขา ใช่ฉันเคยหลงรักเขา แต่เขาทำให้ฉันเสียหายอย่างที่สุด” ทรงตรัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายชาลส์กับนางคามิลลาว่า “มีคนสามคนในชีวิตคู่และเรารู้สึกอึดอัด” ทรงตรัสถึงพระองค์ในอนาคตว่า “ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในใจของประชาชน” และทรงแสดงความกังวลต่อความเหมาะสมในการขึ้นครองราชย์ของพระสวามีว่า “หน้าที่ [ในฐานะประมุข] เป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง และมาพร้อมกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย และฉันไม่รู้ว่าเจ้าชายจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งพระประมุขได้หรือไม่”[79]

20 ธันวาคม พ.ศ. 2538 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแนะนำให้พระโอรสและพระสุณิสาทรงหย่าขาดกัน[82][83] สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าพระราชหัตถเลขาและความเคลื่อนไหวของสมเด็จพระราชินีนาถเกิดขึ้นหลังจากพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีและคณะองคมนตรีชั้นผู้ใหญ่หลังใช้เวลาปรึกษาหารือนาน 2 สัปดาห์[84] และในเวลาต่อมาไม่นานมีเอกสารแถลงการณ์ยินยอมหย่าร้างจากเจ้าชายแห่งเวลส์

กุมภาพันธ์​ พ.ศ. 2539 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงยอมรับข้อตกลงการหย่าร้างหลังการเจรจากับเจ้าชายและตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถ[85] ทั้งนี้เกิดความวุ่นวายภายขึ้นในสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อไดอานาทรงมีพระประสงค์ให้มีการประกาศยินยอมหย่าของพระองค์พร้อมกับข้อตกลงต่าง ๆ อย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชน

กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เจ้าหญิงและเจ้าชายยอมรับข้อตกลงในการหย่าร้าง[86]

28 สิงหาคม พ.ศ. 2539 การหย่าร้างมีผลสมบูรณ์[74] และไม่กี่วันก่อนมีคำสั่งศาลให้ทั้งสองพระองค์หย่าขาด สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเผยแพร่เอกสารสิทธิระบุว่า ไดอานาจะต้องสูญเสียฐานันดรศักดิ์ชั้นเจ้าฟ้า (Her Royal Highness) เนื่องจากมิได้เป็นเจ้าหญิงพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์อีกต่อไป และให้ใช้พระนาม “ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” แต่เพียงเท่านั้น[87] มีการรายงานเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงตัดสินพระทัยให้คงไว้ซึ่งพระอิสริยศ “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” ท้ายพระนามของหลังการหย่าร้าง แต่เจ้าชายชาลส์ทรงคัดค้านและเรียกร้องให้ริบคืนพระอิสริยศดังกล่าวจากอดีตพระชายา 

เนื่องจากเป็นพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียม ผู้ซึ่งเป็นรัชทายาทอันดับสองและมีความเป็นไปได้ที่จะได้ทรงขึ้นครองราชย์ในภายภาคหน้า จึงมีความเห็นพ้องกันภายในราชสำนักว่า หลังทรงหย่าร้าง ควรให้ไดอานาดำรงพระอิสริยศเช่นเดียวกับที่ทรงเคยได้รับระหว่างการเป็นพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายวิลเลียมเคยตรัสปลอบใจพระมารดาครั้งหนึ่งว่า “ไม่เป็นไรครับแม่ ผมจะคืนยศให้แม่เองในวันที่ผมได้เป็นพระราชา”

ทินา บราวน์ ระบุว่าก่อนหน้าการหย่าร้างเพียง 1 ปี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ได้ทรงส่งจดหมายส่วนพระองค์เพื่อเตือนพระสุณิสา ว่า “ถ้าเธอไม่ประพฤติตัวให้ดี เราจะริบยศเธอคืน” และเจ้าหญิงทรงเขียนตอบกลับพระสัสุระว่า “พระยศของหม่อมฉันเก่าแก่กว่าของท่าน ฟิลิป”[86]

ไดอานาได้รับเงินจำนวนมหาศาลเพื่อดำรงชีพจากเจ้าชายชาลส์หลังการหย่าร้างจำนวน 17 ล้านปอนด์ (665 ล้านบาท–อัตราแลกเปลี่ยน สิงหาคม พ.ศ. 2539) พร้อมเงินรายปีจำนวน 400,000 ปอนด์ต่อปี (15.65 ล้านบาทต่อปี–อัตราแลกเปลี่ยน สิงหาคม พ.ศ. 2539) ทั้งสองพระองค์ร่วมลงนามในข้อตกลงซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมพิเศษ ห้ามมิให้ทั้งสองฝ่ายนำรายละเอียดต่าง ๆ ในระหว่างชีวิตคู่จนถึงการหย่าร้างไปเผยแพร่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ[88][86]

หลังการหย่าร้างไม่นาน ไดอานาทรงกล่าวหา นางสาวทิกกี เล็กจ์-เบิร์ก ผู้ช่วยของเจ้าชายชาลส์ ว่า ลอบไปทำแท้งหลังตั้งท้องกับเจ้าชาย โดยเล็กจ์-เบิร์กไม่พอใจอย่างมากและได้เรียกร้องพระองค์ทรงกล่าวคำขอโทษ [89][90] ต่อมา แพทริก เจฟสัน เลขานุการของไดอานา ขอลาออกหลังมีการกล่าวหาเกิดขึ้น และได้เขียนข้อความพาดพิงเจ้าหญิงไว้ว่า “ทรงสำราญพระทัยจากการให้ร้ายเล็กจ์-เบิร์กว่าหล่อนแอบไปทำแท้ง”[91][92]

ไดอานาทรงมีความขัดแย้งกับพระมารดาอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2540 เมื่อฟรานเซสให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฮัลโหล ว่า ไดอานาพอใจจากการถูกเรียกคืนอิสริยศหลังหย่าร้างกับเจ้าชายชาลส์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองต่างไม่ยอมพูดจาหรือติดต่อกันอีกเลยจนกระทั่งไดอานาสิ้นพระชนม์[93]

สำนักพระราชวังบักกิงแฮมชี้แจงว่า ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังเป็นสมาชิกราชวงศ์ เนื่องจากเป็นพระมารดาของรัชทายาทอันดับที่สองและสาม และข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจาก บารอนเนส บัทเลอร์-สลอส เจ้าหน้าที่โคโรเนอร์แห่งราชสำนัก ก่อนการพิจารณาคดีการสิ้นพระชนม์ของไดอานาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2550 โดยกล่าวว่า "ดิฉันรู้สึกพึงพอใจที่ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ยังคงสถานะเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ แม้ว่าจะสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ตาม”[94] และความเป็นสมาชิกราชวงศ์ของพระองค์ได้รับการรับรองอีกครั้งโดยคณะลูกขุนแห่งศาลสูงไฮคอร์ท ซึ่งเป็นผู้กล่าวรับคำร้องพิจารณาคดีมรณกรรมของไดอานาและโดดีในฝรั่งเศส ดังนี้ “การพิจารณาคดีครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตสองคน ผู้หนึ่งเป็นสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ (ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์) แต่อีกผู้หนึ่งไม่ใช่ (โดดี อัลฟาเยด) ”[95]

เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ณ ทำเนียบขาว พร้อมด้วย ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโรนัลด์ เรแกน และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งนางแนนซี เรแกน เมื่อ พ.ศ. 2528

ใกล้เคียง

ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ไดอานา คิง ไดอานา รอสส์ ไดอานา ครอลล์ ไดอานา (ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า) ไดอานา เวลสลีย์ ดัชเชสแห่งเวลลิงตัน ไดอานา (แก้ความกำกวม) ไดอานา อัลวาเรช เปเรย์รา เดอ เมโล ดัชเชสที่ 11 แห่งคาดาวัล ไดอาน่า จงจินตนาการ ไดอาน่า แรนด์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ http://www.haypost.am/view-lang-eng-product-591.ht... http://www.marieclaire.com.au/gallery/fashion/cann... http://www.news.com.au/heraldsun/story/0,21985,230... http://www.azermarka.az/en/search.php?misc=search&... http://canadiancrown.gc.ca/eng/1331832099895#a4 http://www.huffingtonpost.ca/2016/05/10/iconic-can... http://bbc.adactio.com/politics97/diana/blunt.html http://www.aparchive.com/metadata/UK-Various-Queen... http://www.apnewsarchive.com/1990/Prince-Charles-P... http://www.bbc.com/news/uk-38508089